ทำความรู้จักกับ IMT-2020 กันก่อน
IMT-2020 นั้นคือข้อกำหนดการใช้งานการสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 (5G) ในปี พ.ศ. 2563 โดยข้อกำหนดการใช้งานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามรูปแบบการใช้งานการสื่อสารไร้สาย ได้แก่ Enhanced Mobile Broadband (eMBB) Massive Machine Type Communications (mMTC) และ Ultra-reliable and Low Latency Communications (URLLC)
eMBB หรือ Enhanced Mobile Broadband
คือการเพิ่มขีดความสามารถของบริการให้ดีขึ้นกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การเพิ่มความเร็วการส่งข้อมูลให้สูงขึ้นอย่างมาก (สูงถึง 20 Gbps) การสื่อสารเกิดขึ้นได้ในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง (บนรถไฟฟ้าความเร็วสูง) และการครอบคลุมสัญญาณในทุกพื้นที่ได้อย่างไร้รอยต่อ
mMTC หรือ Massive Machine Type Communications
คือการรองรับการสื่อสารของอุปกรณ์จำนวนมหาศาล โดยที่อุปกรณ์แต่ละตัวส่งข้อมูลด้วยความเร็วไม่สูงมากและมีความหน่วงได้พอสมควร
URLLC หรือ Ultra-reliable and Low Latency Communications
คือความต้องการสื่อสารที่มีความหน่วงต่ำและความน่าเชื่อถือสูง โดยกำหนดให้ความหน่วงต่ำกว่า 1 ms การบริการ URLLC จึงจัดเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุดและมีตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานที่ชัดเจนหลากหลาย อาทิ สมาร์ตกริด (smart grid) ระบบขนส่งอัจฉริยะ (intelligent transport systems) การควบคุมไร้สายของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม (wireless control of industrial manufacturing) การสื่อสารรถยนต์กับทุกสิ่ง (vehicle-to-everything)
หากการสื่อสารใด ๆ ที่มีความสามารถตามข้อกำหนดดังกล่าว จะถือเรียกได้ว่าเป็นการสื่อสารยุค 5G โดยบุคคลที่ออกข้อกำหนด IMT-2020 ดังกล่าวคือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)
จึงมีองค์กรต่าง ๆ มากมายจากทั้งองค์กรของรัฐบาล องค์กรอิสระ รวมถึงองค์กรที่รวมตัวกันขึ้นมา ยื่นเสนอมาตรฐานต่าง ๆ ที่คาดว่าจะได้ถูกเลือกมาเป็นมาตรฐานการสื่อสารในยุค 5G ซึ่งหนึ่งองค์กรที่มีอิทธิพลมากในการออกแบบมาตรฐานก็คือ องค์กร 3rd Generation Partnership Project (3GPP)
3GPP หรือ 3rd Generation Partnership Project
คือองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวขององค์กรที่ทำหน้าที่ออกแบบมาตรฐานด้านโทรคมนาคม ได้แก่
1. Association of Radio Industries and Businesses (ARIB)
2. Alliance for Telecommunications Industry Solutions (ATIS)
3. China Communications Standards Association (CCSA)
4. European Telecommunications Standards Institute (ETSI)
5. Telecommunications Standards Development Society, India (TSDSI)
6. Telecommunications Technology Association (TTA)
7. Telecommunication Technology Committee (TTC)
โดยองค์กรประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านโทรคมนาคม
การประชุมของ 3GPP จะมุ่งเน้นงานที่ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโครงข่ายโทรคมนาคมเซลลูลาร์ ได้แก่ Radio Access Core Transport Network และ Service Capabilities เช่น codecs security quality of service เป็นต้น
โดยทำการแบ่งกลุ่มรายละเอียดเชิงเทคนิคออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. Radio Access Network (RAN)
2. Services & Systems Aspects (SA)
3. Core Network & Terminals (CT)
โดยแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยกลุ่มย่อยที่มีหน้าที่ดำเนินการแตกต่างกัน ดังตารางด้านล่าง การประชุมของกลุ่ม RAN SA และ CT จะจัดขึ้นทุกไตรมาสเพื่อให้สมาชิกนำเสนอข้อเสนอที่ต้องการนำไปสู่มาตรฐาน
Radio Access Network (RAN) | Core Network and Terminals (CT) | Service and Systems Aspects (SA) |
RAN WG1 เนื้อหา – Radio Layer 1 spec | CT WG1 เนื้อหา – MM/CC/SM (lu) | SA WG1 เนื้อหา – Services |
RAN WG2 เนื้อหา – Radio Layer 2 and 3 RR spec | CT WG3 เนื้อหา – Interworking with external networks | SA WG2 เนื้อหา – Architecture |
RAN WG3 เนื้อหา – lub, lur and lu spec UTRAN O&M requirements | CT WG4 เนื้อหา – MAP/GTP/BCH/SS | SA WG3 เนื้อหา – Security |
RAN WG4 เนื้อหา – Radio performance protocol aspects | CT WG6 เนื้อหา – Smart card application aspects | SA WG4 เนื้อหา – Codec |
RAN WG5 เนื้อหา – Mobile terminal conformance testing | SA WG5 เนื้อหา – Telecom management | |
RAN WG6 เนื้อหา – GSM/EDGE radio and protocol aspects | SA WG6 เนื้อหา – Mission-critical applications |